วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ปราสาทเขาพระวิหาร

ปราสาทเขาพระวิหาร ปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งกั้นพรหมแดนระหว่าง ไทยกับกัมพูชา มีความสูงจากพื้นดิน 547 เมตร และระดับความสูง 657 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล พระวิหาร หรือในภาษาเขมรเรียกว่า เปรียะวิเฮียร์ หมายถึงสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ที่ตั้งของศาสนสถานแห่งนี้รู้จักกันในนาม พนมพระวิหาร อันหมายถึง บรรพตแห่งศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับสถานที่ตั้งและทิศทางปราสาทเขาพระวิหารนั้น ปรากฏว่าปราสาทแห่งนี้หันหน้าไปทางทิศเหนือแทนการหันไปสู่ทิศตะวันออก ดังเช่น ศาสนสถานแบบเขมรโดยทั่วไป โดยหลักการแล้วการสถาปนาปราสาทขึ้นมีจุดประสงค์หลักเพื่อ การรังสรรค์ที่ประทับของเทพเจ้าตามแบบจำลองของพระราชวังบนสรวงสวรรค์ ปราสาทเขาพระวิหาร ประกอบด้วยสถาปัตยกรรมซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาทราย จำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระ อาคารรูปกากบาท วิหาร บรรณาลัย และบันไดนาคพร้อมทางเดิน องค์ประกอบทั้งหมดของศาสนสถานแห่งนี้ตั้งอยู่บนยอดเขาลาดลงตามไหล่เขาพระวิหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงเร็ก ในวัฒนธรรมเขมรได้ให้ความสำคัญแก่ยอดเขาโดยถือว่ายอดเขาเป็นสถานที่ซึ่งได้รับการเลือกสรรมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ตั้งแต่กลางสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 ได้เริ่มนิยมสร้างศาสนสถานบนยอดเขาธรรมชาติตามความหมายของศาสนบรรพต เหนือยอดเขาพระวิหารซึ่งถือว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้า โดยปกติแล้วทิศของศาสนสถานของเขมรทั้งหมดจะหันหน้าออกไปทางทิศตะวันออก แต่บางครั้งก็ต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับทางภูมิศาสตร์ ปราสาทเขาพระวิหารปัจจุบันอยู่ภายใต้การครอบครองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนกัมพูชา ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอ กันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ การเข้าชม เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 08.00 – 16.30 น. ค่าเข้าชม ต้องเสียค่าธรรมเนียมสองด่าน คือค่าผ่านด่านเขาพระวิหารชาวไทย 20 บาท ชาวต่างประเทศ 200บาท และค่าเข้าชมเขาพระวิหารที่เป็นการเก็บของด่ากัมพูชา ชาวไทยผู้ใหญ่ 50 บาท ชาวต่างประเทศ ผู้ใหญ่ 200 บาท ปราสาทเขาพระวิหารเปรียบดังวิหารสวรรค์ของผู้คนในดินแดนเขมรต่ำและในเขตพนมดงเร็ก ปราสาทเขาพระวิหารนี้มีลำตราวเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติร่วมกันของชุมชน ยอดเขาพระวิหารถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่ออำนาจที่นอกเหนือธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของสรรพสิ่งของชนพื้นเมือง ก่อนจะมีการสถาปนาให้สถานที่แห่งนี้เป็น ศรีศิขรีศวร ที่ประดิษฐานศิวะลึงค์อันศักดิ์สิทธิ์ ตามคติความเชื่อในลัทธิเทวราชาของขอม โดยเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ขอมในสมัยพระเจ้าโสรวรมันที่ 1 ผู้สร้างเมืองยโสธรปุระ สมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 (พุทธศตวรรษ ที่ 16) ได้ทรงสถาปนาให้เขาพระวิหารเป็นที่ประดิษฐาน กมรเตงชคตศรีศิขรีศวร เพื่อหลอมรวมความหลากหลายของผู้คนพื้นเมืองหลากวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ทั้งพวกจาม ขอม ส่วยให้มี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในด้านระบบความเชื่อ โดยผสานเอาลัทธิเทวราชา อันมีนัยถึงการสร้างความสมานฉันท์ในทางการเมืองและวัฒนธรรมระหว่างผู้คนในดินแดนเขมรต่ำกับเขาดงเร็ก ซึ่งหมายถึงการที่คนพื้นเมืองยอมรับในพระราชอำนาจของกษัตริย์ขอม ดังที่พระองค์ได้โปรดให้ผู้นำในท้องถิ่นเดิมแถบเขาพระวิหารสาบานตนแสดงความจงรักภักดีต่อกมรเตงชคตศรีศิขเรศวร ที่หน้าบันของภวาลัย อันเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ มีภาพจำหลักรูปพระศิวะฟ้อนรำเหนือศีรษะช้าง แม้ว่าตัวปราสาทจะถูกสร้างโดยกษัตริย์ขอม แต่ทางขึ้นปราสาทและภวาลัยหันหน้ามาทางทิศเหนือสู่เขตอิสานใต้ของประเทศไทย แสดงถึงการเป็นที่สักการะของผู้คนในแถบนี้ และสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศสำหรับผู้คนในดินแดนเขมรต่ำ มีทางขึ้นที่สูงชันมาก อยู่ทางด้านตะวันออกของปราสาททางช่องแคบที่เรียกว่าช่องบันไดหัก ปราสาทเขาพระวิหารได้เป็นศูนย์กลางความเชื่อในระดับลัทธิเทวราชและเป็นศูนย์รวมแห่งพิธีกรรมการนับถือบรรพบุรุษของผู้คนในท้องถิ่น มีการอุทิศถวายเทวสถานด้วยที่ดิน ข้าทาส วัตถุสิ่งของที่ทำให้เกิดการขยายตัวของชุมชนรอบปราสาทพระวิหารและบริเวณใกล้เคียง ในบริเวณใกล้ๆปราสาทพระวิหารยังมีสถานที่น่าสนใจคือภาพแกะสลักนูนสูงที่ผามออีแดง และสถูปคู่ อันเป็นโบราณสถานรูปทรงแปลกตาตั้งอยู่คู่กันสองหลัง สถาปัตยกรรมปราสาทเขาพระวิหาร ตั้งอยู่บนยอดเขาลาดลงมาตามไหล่เขาพระวิหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงเร็ก การสถาปนาปราสาทขึ้นบนยอดเขาธรรมชาตินี้ด้วยมุ่งหมายที่จะให้เป็นศาสนบรรพต ซึ่งถือว่าภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่สถิตของเทพเจ้าเป็นสำคัญ สำหรับทิศทางของปราสาทแห่งนี้ปรากฏว่าหันไปทางทิศเหนือ ซึ่งแตกต่างจากปราสาทอื่นๆ ซึ่งตามปกติมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สาเหตุที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ ซึ่งนอกจากสภาพภูมิศาสตร์เป็นเครื่องกำหนดแล้วก็น่าจะเกิดจากปัจจัยอื่นบางประการที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับดินแดนเขมรสูงเป็นพิเศษ ปราสาทเขาพระวิหารมีลักษณะที่แผนผังที่ใช้แกนเป็นหลักซึ่งความนิยมแผนผังเช่นนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 กลุ่มของอาคารหลักซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาประกอบด้วยปราสาทประธานเป็นจุศูนย์กลางหันหน้าไปทางทิศเหนือล้อมรอบด้วยระเบียงคดทั้งสี่ด้าน ปราศจากบรรณาลัยขนาบเบื้องหน้า ด้วยเหตุนั้นปราสาทประธานนี้จึงโดเด่นบริเวณกึ่งกลางของลานชั้นในโดยไม่มีอะไรบดบัง ลักษณะของแผนที่เช่นนี้แสดงให้เห็นถึง การวางผังที่กำหนดตำแหน่งอาคารมีความสมบูรณ์ลงตัวตั้งแต่แรกเริ่มของการก่อสร้าง โดยไม่มีการแก้ไขต่อเติมบริเวณลานชั้นในภายหลัง ปราสาทประธาน ตั้งอยู่กลางลานชั้นในสุด ประกอบด้วยครรภคฤหะ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ออกมุมตั้งบนฐานปราสาทประธาน ซึ่งเรียกว่า “วิมาน” มีทางเข้าทั้งสี่ทิศได้แก่ ทิศเหนืออันเป็นทางเข้าสำคัญ มีอันตราละ เชื่อมต่อกับมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ ในขณะที่มุขทางเข้าวิมานอีก 3 ทางอันได้แก่ ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศใต้มีลักษณะเหมือนกันโดยทำเหมือนกับเป็นทางเข้าสู่คฤหะโดยตรง ตามปกตินั้นสถาปัตยกรรมเขมรคงมีลักษณะเช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมอินเดีย ซึ่งมีมณฑปตั้งอยู่เกือบเสมอทิศตะวันออก ด้วยเหตุนั้น ศาสนสถานเขมรโดยทั่วไปจึงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศที่พระอาทิตย์ขึ้น อาจจะมีเหตุผลเกี่ยวกับลัทธิความเชื่อโบราณว่า แสงสว่างของดวงอาทิตย์ได้ก่อให้เกิดพลังแก่รูปเคารพ ฐาน และลวดลายเครื่องประดับซึ่งประกอบด้วยฐานปัทม์และฐานเขียง ฐานเหล่านี้มีความสูงและชั้นลวดลายซึ่งแสดงถึงความสำคัญอันต่อเนื่องของแต่ละส่วนของศาสนสถานแห่งนี้ ส่วนตัวเรือนธาตุ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสออกมุมมีมุขปราสาทประกอบอยู่ทั้งสี่ด้าน จึงทำให้แผนผังเป็นรูปกากบาทโดยมีมุขปราสาทด้านหน้า เป็นมุขที่มีความสำคัญมากที่สุด มุมใหญ่ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุแสดงถึงรูปทรงสี่เหลี่ยมหลักดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมเขมร ส่วนเครื่องบนของวิมานในปัจจุบันได้พังทลายลง จึงไม่อาจทราบรูปทรงที่แน่นอนได้แต่กระนั้นก็ได้พบรูปปราสาทจำลองขนาดเล็กและยอดปราสาทรูปดอกบัวตูมหล่นอยู่ จากการค้นพบปราสาทจำลองและยอดปราสาทนี้จึงทำให้ทราบแน่นอนว่าแต่เดิม เครื่องยอดสุดของปราสาทประธานสร้างขึ้นในลักษณะของดอกบัวตูมและรูปปราสาทจำลองนี้แต่เดิมคมใช้ประดับตกแต่งมุมของชั้นเชิงบาตร การตกแต่งมุมของชั้นเชิงบาตรด้วยรูปจำลองของปราสาทนี้ เป็นความนิยมก่อนหน้าหารเปลี่ยนแปลงมาสู่การประดับมุมของชั้นเชิงบาตรด้วยกลีบขนุนปราสาทรูปสามเหลี่ยม ซึ่งเรียกว่า นาคปัก อันเริ่มตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เช่นปราสาทประธานของ ปราสาทพิมายเป็นต้นมา มณฑป สร้างแยกออกมาจากตัวปราสาทซึ่งเรียกว่า วิมาน ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีผนังสี่ด้านและมีหน้าบันประกอบโดยรอบ มณฑปแห่งนี้แบ่งออกเป็นสองส่วน คือมณฑปส่วนในและมุขของมณฑปส่วนหน้าที่เรียกว่า อรรธมณฑป มณฑปนี้สร้างขึ้นเพื่อให้นิกรชนทั่วไปได้เข้าไปภายในเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนวิมานซึ่งเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์ หรือรูปเคารพเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สงวนไว้เฉพาะพราหมณ์หรือนักบวชที่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมภายในครรคฤหะได้เพียงพวกเดียว ฐานของมณฑปกว้าง 15 เมตร ยาว 17 เมตร และสูง 1.50 เมตร ลักษณะการสร้างมณฑปให้ต่อเนื่องกับวิมาน โดยมีอันตราละป็นตัวเชื่อมเช่นนี้เป็นเอกลักษณ์ของปราสาทเขมรโดยเฉพาะ อาคารมณฑปมีประตูทางเข้า 4 ประตู คือ ประตูทางด้านทิศเหนือซึ่งเป็นด้านหน้า ประตูด้านทิศใต้ต่อเนื่องกับอันตราละและประตูทางด้านข้าง อันได้แก่ประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ภายในมณฑปอาจเป็นที่ตั้งรูปโคนนทิหมอบซึ่งมีความหมายถึงพาหนะของพระศิวะซึ่งปัจจุบันได้สูญไปแล้ว เมื่อไม่นานภายในมณฑปได้ปรากฏโบราณวัตถุที่ทำด้วยหินทรายมีสภาพชำรุด ได้แก่ คเณศ เทวรูปยืน ศิวลึงค์และรูปปราสาทจำลอง ทับหลัง ของบรรณาลัยหลังทิศตะวันออกเหนือประตูทางเข้าด้านหน้า และเหนือประตูหลอกด้านหลัง สลักเป็นรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาสนะภายในซุ้มเหนือหน้ากาล ส่วนบรรณาลัยหลังทิศตะวันตก ทับหลังประตูทางเข้าด้านหน้าสลักรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาสนะเช่นเดียวกับภาพบนทับหลังของบรรณาลัยหลังทิศตะวันออก หากแต่บนทับหลังของประตูด้านหลังซึ่งแตกชำรุดนั้นยังคงปรากฏรูปหงส์เป็นพาหนะของรูปบุคคลอยู่ น่าจะเป็นพระวิรุณทรงหงส์ หน้ากาลซึ่งตอนกลางเบื้อล่างของทับหลังคายท่อนพวงมาลัยออกมาจากปากและใช้มือยึดท่อนพวงมาลัยนั้น โดยท่อนพวงมาลัยได้วกขึ้นเบื้องบนและฉีกออกไปยังปลายของทับหลังทั้งสองข้าง เหนือท่อนพวงมาลัยมีลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมตั้งขึ้น และเบื้องล่างมีลายใบไม้ม้วนห้อยตกลงมา การไม่ปรากฏพวงอุบะแบ่งที่เสี้ยวของท่อนพวงมาลัยทั้งสองข้าง ทำให้กำหนดไว้ว่าเป็นศิลปะแบบปาปวนอย่างแท้จริง หน้าบัน หน้าบันของบรรณาลัยทั้ง 2 หลังเป็นหน้าบันซ้อนกัน 3 ชั้น ประกอบด้วยตัวหน้าบันและกรอบหน้าบันตัวหน้าบันของบรรณาลัยทั้ง 2 หลังทั้งด้านหน้าและด้านหลังสลักรูปบุคคลประทับในท่ามหาราชลีลาสนะ ภายในซุ้มเหนือหน้ากาลท่ามกลางลายพันธุ์พฤกษาซึ่งประกอบกันในรูปทรงสามเหลี่ยมเบื้องล่างมีขื่อปลอมทำเป็นแนว้ส้นนูนจำหลักลายกลีบบัวรองรับ ส่วนกรอบของหน้าบันใหญ่และหน้าบันชั้นลดมีลักษณะเปฌนสามหยักมีใบระกาประดับอยู่เบื้องบน ภายในกรอบสลักเป็นลายช่อดอกไม้เรียงจากสูงลงมาหาต่ำจนบรรจบกับนาคห้าเศียรที่ปลายของกรอบหน้าบัน นาคห้าเศียรเหล่านี้มีลายใบไม้ประดับเหนือเศียรแต่ละเศียรและนาคเศียรกลางคายพวงอุบะ จากรูปแบบของกรอบหน้าบันซึ่งไม่มีหน้ากาลคายที่คอของนาค แสดงถึงรูปแบบของศิลปะแบบเกลียงตอนปลายหรือแบบปาปวนตอนต้น ทางดำเนินระหว่างโคปุระชั้นที่สามกับโคปุระชั้นที่สี่ จากโคปุระชั้นที่สามมีทางเดินยาว 270.53 เมตร ทอดไปทางทิศเหนือสู่โคปุระชั้นที่สี่ ทางเดินนี้กว้าง 11.10 เมตร โดยมีของทางทำเป็นเขื่อนยกสูงขึ้นเป็นของทั้งสองข้าง ส่วนพื้นทางปูด้วยศิลาทรายโดยตอลด แต่กระนั้นก็ดีบางตอนของพื้นทางก็เป็นลานซึ่งเป็นหินทรายตามธรรมชาติที่ไม่เป็นระเบียบก็จำต้องตัดผิวหน้าให้เรียบเพื่อเข้ากับรูปแบบส่วนรวม บนขอบทางเดินทั้งสองข้างปักเสาศิลาทรายซึ่งเรียกกันว่า เสาเทียน เสานางเรียง เสานางจรัล มีลักษณะเป็นเสาศิลาสี่เหลี่ยม มียอดคล้ายรูปดอกบัวตูมสูงราว 2.15 เมตร ปักเรียงรายเป็นระยะซึ่งเข้าใจว่ามีข้างละ 70 ต้น ปักห่างกันต้นละ 4.10 เมตร เสานางเรียงสองเข้าทางเดินนี้มียอดซึ่งมีลักษณะเป็นรูปพุ่มขนาดใหญ่ บริเวณใต้พุ่มนี้สลักเป็นชั้นลวดบัวตกแต่งด้วยลายประจำยาม ลายกลีบบัว บัวกุมุทและลายใบไม้รูปสามเหลี่ยมสลับพวงอุบะลดหลั่นกันลงมา ในทำนองเดียวกันที่โคนของเสาก็ทำล้อในลักษณะคล้ายคลึงกับยอดของเสา ถึงแม้ว่ายังไม่อาจทราบความหมายที่แท้จริงได้แต่ก็เป็นไปได้ว่าเสานองจรัลที่กล่าวถึงนี้อาจมาจาก ไนจุมวล ในภาษาเขมรซึ่งหมายถึงเสาที่ปักรายเรียงตามทางเข้า ตรงกับความหมายของคำว่า cumval บารายรูปสี่เหลี่ยมพื้นผ้า ทางด้านทิศตะวันออกของทางเดินห่างขอบทางออกไปราว 12.40 เมตร มีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเรียกว่า สระสรง กว้าง 16.80 เมตร ยาว 37.30 เมตร สระน้ำแห่งนี้กรุด้วยท่อนหินเป็นขั้นๆ อย่างบันได สอบลงก้นสระบริเวณชานบันไดลง สระเดิมมีการตั้งรูปสิงห์ประดับไว้ สะพานนาค ซึ่งอยู่เหนือบันไดศิลาช่วงที่สองนั้นปูพื้นด้วยแผ่นศิลาเรียบมีขนาดกว้าง 71 เมตร ยาว 31.80 เมตร ขอบสะพานทั้งสองข้างด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกทำเป็นฐานทึบขนาดเตี้ยมีพระยานาคเจ็ดเศียรเลื้อยอยู่บนฐานดังกล่าว นาคทั้งสองตัวนี้มีหัวข้างหนึ่งของลำตัวและมีหางข้างหนึ่งของลำตัวหันเศียรซึ่งแผ่พังพานไปทางด้านทิศเหนือคือทางด้านหน้า ส่วนหางของนาคนั้นชูขึ้นเล็กน้อยหันไปด้านทิศใต้ นาคทั้งสองตัวนี้เป็นนาคซึ่งไม่มีรัศมีเข้ามาประกอบและลักษณะยังคล้ายกับงูตามธรรมชาติ เป็นศิลปะแบบปาปวนอย่างแท้จริง ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในศิลปะแบบอื่นใดทั้งสิ้น ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบได้กับนาคที่เลื้ออยู่บริเวณขอบสระน้ำที่ปราสาทเมืองต่ำ อนาคนี้เป็นการแสดงถึงคติของสะพานซึ่งเชื่อมระหว่างมนุษย์โลกกับสวรรค์ไปพร้อมกันด้วย ในความเชื่อของจักรวาลของศาสนาฮินดูนั้น สะพานที่เชื่อมระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้านั้นคือสายรุ้ง ร่องรอยหลายประการที่เป็นเครื่องยืนยันว่าสะพานที่มีราวเป็นรูปพญานาคซึ่งเป้นทางเดินเหนือคูน้ำจากมนุษย์โลกไปยังศาสนสถานคือภาพของรุ้ง ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกรวมทั้งประเทศอินเดียมักกล่าวถึงรุ้งซึ่งถูกเปรียบเทียบกับพญานาค หรืองูที่มีหลายสีชูศีรษะไปยังท้องฟ้าหรือดื่มน้ำจากทะเล ตำนานของเรื่องนี้มักกล่าวถึงงูสองตัวเนื่องจากมักมีรุ้งกินน้ำสองตัวบ่อยครั้ง บางทีอาจจะเป็นรุ้งกินน้ำคู่ ซึ่งหมายถึงทางเดินของเทพเจ้าไปสู่ท้องฟ้า ซึ่งส่งความบันดาลให้มีการสร้างนาคเป็นราวทั้งสองข้างของสะพานที่เสมือนการแสดงภาพทางเดินของเทพเจ้ามายังพื้นพิภพของโลกมนุษย์ เป้ยตาดี เป็นชื่อของลานศิลาซึ่งอยู่ด้านหลังมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ นอกระเบียงคดที่ล้อรอบปราสาทประธานของเขาพระวิหาร จากคำบอกเล่ากล่าวกันว่า นานมาแล้วมีพระภิกษุชรารูปหนึ่งชื่อ ดี จาริกมาปลูกพำนักอยู่ ณ ลานศิลาแห่งนี้จนถึงแก่มรณะภาพ ชาวบ้านจึงเรียกลานแห่งนี้ว่าเป้ยตาดี ซึ่งหมายถึงเพิงหลวงตาดีนั่นเอง ลานศิลาแห่งนี้มีพื้นที่กว้าง 44 เมตร ยาว 50 เมตร ยังคงปรากฎร่องรอยของการตัดศิลาทรายเพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารและส่วนต่างๆของปราสาทเขาพระวิหารในปัจจุบัน จากลานแห่งนี้สามารถมองเห็นภูมิประเทศกัมพูชาได้ไกลสุดสายตา นอกจากนี้ทางด้านหน้าปราสาทของเขาพระวิหารซึ่งเรียกว่า สระตราว รวมทั้งบริเวณใกล้เคียงกับผามออีแดง ก็ปรากฎร่องรอยของการนำศิลาทรายมาใช้ในการก่อสร้างโบราณสถานแห่งนี้เช่นกัน วัสดุและเทคนิคในการก่อสร้าง โบราณสถานเขมรโดยทั่วไปใช้วัสดุหลักสามชนิด อันได้แก่อิฐ ศิลาทราย และศิลาแลง กับทั้งใช้วัสดุรองคือไม้ เป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อสร้าง ถึงแม้สถาปัตยกรรมแบบเขมรอาจจำแนกได้สองประเภท คือสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยวัตถุถาวรคือ อิฐ ศิลาทราย และศิลาแลง กับสถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยไม้ หรือบางครั้งอาจใช้ผสมกันทั้งสองชนิด แต่สถาปัตยกรรมแบบเขมรก็มีรูปร่างที่ซับซ้อน เพราะนอกจากจะได้รับรูปแบบมาจากอาคารเครื่องไม้ในประเทศอินเดียแล้วยังมีสถาปัตยกรรมแบบพื้นเมืองของตนเองซึ่งสร้างด้วยไม้เข้ามาประสม อาคารสถานที่สร้างด้วยไม้ย่อมผุพังไม่เหลืออยู่จนกระทั่งปัจจุบัน จะเหลือก็แต่ที่สร้างด้วยอิฐและศิลาแลง และศิลาทรายเท่านั้น สถาปัตยกรรมที่สร้างด้วยวัสดุที่คงทนของเขมรคือการถ่ายทอดอาคารเครื่องไม้ของอินเดียลงบนวัตถุที่ทนทานนั่นเอง แต่มีองค์ประกอบบางอย่างที่ลอกเลียนมาจากสถาปัตยกรรมพื้นเมืองที่สร้างด้วยไม้ของตนเองเข้ามาประสม จนกระทั่งมีลักษณะบางประการที่แตกต่างไปจากต้นแบบในประเทศอินเดีย การเลียนแบบอาคารเครื่องไม้แสดงให้เห็นในรายละเอียดหลายประการเช่น ประตูปลอมซึ่งก่อด้วยอิฐหรือศิลาทราย สร้างเลียนแบบบานประตูไม้ ซึ่งเคยปรากฏอยู่ที่เป็นประตูจริงมาก่อน ทับหลังซึ่งจำหลักด้วยศิลาทรายเสมอนั้น ในชั้นแรกก็สลักลวดลายเลียนแบบวงโค้งซึ่งทำด้วยไม้และมีพวงมาลัยห้อยประดับ ลวดลายเครื่องประดับผนังเสาก็มักสลักเลียนแบบพวงมาลัยที่แขวนอยู่กับไม้ ลูกกรงมะหวดของหน้าต่างที่สลักด้วยศิลาทรายก็สลักล้อเลียนลูกกรงที่ทำด้วยไม้ไผ่มาแต่ก่อน และอื่นๆอีกมากมาย อิฐ เป็นวัสดุที่สำคัญที่ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมถาวรในประเทศกัมพูชา ระหว่างช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15 ในพุทธศตวรรษที่ 16 ได้มีการใช้อิฐน้อยลง มักใช้กับอาคารที่ไม่สำคัญจนกระทั้งถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 จึงเลิกนิยมใช้อิฐ ในการก่ออิฐจำเป็นต้องฝนอิฐแต่ละก้อนเพื่อให้อิฐเรียงทับกันสนิทดีไม่มีช่องว่าง ศิลาทราย เป็นวัสดุที่ชาวกัมพูชานิยมใช้ก่อสร้างศาสนสถานตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15 และได้กลายเป็นที่นิยมกันทั่วไปในพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลาทรายส่วนมากเป็นสีเทาแต่บางครั้งมีสีค่อนข้างแดงหรือค่อนข้างเป็นสีน้ำเงิน เขียว เหลือง หรือม่วง ซึ่งมีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง ศิลาทรายเกิดจากทรายที่ละเอียดมารวมตัวกันเข้าเป็นศิลาเหล่านี้ มีลักษณะอ่อนนุ่มเวลาขุดขึ้นมาจากแหล่งตัดหิน ด้วยเหตุนั้นจึงสามารถสลักลวดลายได้อย่างประณีตวิจิตร แต่ทรายเหล่านี้ก็มีเนื้อไม่เหนียวแน่นและแตกออกเป็นแผ่นบางได้โดยง่าย ศิลาทรายมีอยู่น้อยในประเทศกัมพูชาและมีเฉพาะบางท้องที่เท่านั้น แหล่งตัดศิลาทรายที่เป็นแหล่งที่สำคัญที่นำมาใช้ก่อสร้างศาสนสถานในเมืองพระนครและบริเวณใกล้เคียงอยู่ที่เขาพนมกุเลน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองพระนครออกไปราว 40 กิโลเมตร สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดของปราสาทเขาพระวิหาร เช่นปราสาทประธาน ระเบียงคด โคปุระทุกชั้น บรรณาลัย รวมทั้งสะพานนาคล้วนแล้วแต่ใช้ศิลาทรายเป็นวัสดุก่อสร้างทั้งสิ้นศิลาทรายเหล่านี้มีสีเทาและสีเหลืองค่อนข้างแดงเป็นหลัก เทคนิคการก่อสร้างสถาปัตยกรรมด้วยศิลาในชั้นแรก กระทำด้วยการนำก้อนศิลาทรายซึ่งตัดเป็นแท่งสี่เหลี่ยมขนาดไล่เลี่ยกันวางซ้อนกันขึ้นไปตามรูปผังที่กำหนดไว้ โดยอาศัยน้ำหนักของแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนกดทับกันและกันเพียงอย่างเดียว การใช้วัสดุอื่นเป็นเครื่องยึดจะกระทำเฉพาะส่วนที่มีความจำเป้นต้องเสริมความมั่นคงเป็นพิเศษเช่นที่ขอบหรือที่มุมของอาคาร ชาวเขมรได้นำเทคนิคการสกัดหินทรายสองก้อนซึ่งอยู่ชิดกันให้เป็นร่องแล้วนำแท่งเหล็กหล่อเป็นรูปตัว I หรือ Z วางลงในร่องดังกล่าวเพื่อให้แท่งเหล็กนั้นเป็นแกนยึดหลักศิลาทรายทั้งสองก้อนเข้าด้วยกัน แล้วจึงใช้ตะกั่วหลอมละลายราดทับลงไปบนแท่งเหล็กนั้นอีกชั้นหนึ่ง ในการเคลื่อนย้ายศิลาทรายเพื่อนำขึ้นไปก่อสร้างสถาปัตยกรรมนั้น จำเป็นต้องยกก้อนศิลาทรายที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่และมีน้ำหนักมากขึ้นไปวางซ้อนกันในระดับความสูงนับสิบเมตร ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการค้นพบหลักฐานที่อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้แน่นอนในขณะนี้ก็ตาม แต่มีการสันนิษฐานว่าชาวเขมรคงใช้เครื่องผ่อนแรงประเภทรอกกว้านขึ้นไปหรือใช้สะพานเลื่อนเป็นสำคัญ หากพิจารณาแท่งศิลาทรายแต่ละก้อนแล้ว มักจะพบว่าปรากฏรอยเจาะรูที่ปลายของแท่งศิลาทรายทั้งสองด้าน รูเจาะดังกล่าวคงทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเคลื่อนย้ายหรือยกแท่งศิลาทรายนี้ เป็นไปได้ว่า ช่างอาจใช้ลิ่มตอกเข้าไปในรูแล้วใช้เชือกผูกลิ่มทั้งสองข้างยกขึ้นเบื้องบน อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการยกแท่งศิลาทรายขึ้นเพื่อวางเรียงซ้อนกันตามรูปทรงที่กำหนดไว้จำเป็นจะต้องขัดผิวศิลาทรายเหล่านี้ให้เรียบ เพื่อประโยชน์ในการวางศิลาทรายแต่ละก้อนให้แนบสนิทกัน โดยระวังมิให้รอยต่อแต่ละก้อนตรงกัน ภายหลังการเรียงสำเร็จแล้วจำต้องตัดหน้าแท่งศิลาทรายให้เรียบ แล้วจึงลงมือแกะสลักลวดลายต่อไป การแกะสลักลวดลายบนสถาปัตยกรรมนี้ รวมทั้งการแกะสลักทับหลังและหน้าบันก็กระทำเมื่อยกแท่งศิลาเหล่านั้นไปประกอบเป็นรูปทรงก่อนแล้วค่อยแกะสลัก ยกเว้นปราสาทซึ่งเป็นรูปกลศหรือดอกบัวเท่านั้นที่คงสลักบนพื้นดินแล้วนำขึ้นไปบนยอดสุดในท้ายที่สุด เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักลวดลายที่ระเอียดนี้คือ เครื่องมือเหล็กที่มีขนาดเล็กและแหลมคม การแกะสลักกระทำเป็นสี่ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเป็นการร่างลายลงบนผิวหน้าของศิลาทราย ขั้นที่สองคือการแกะสลักลงไปเพื่อให้เป็นรูปร่างขึ้นมา ขั้นที่สามคือการแกะสลักลงไปอีกเพื่อให้ลวดลายเด่นชัดยิ่งขึ้น และขั้นที่สี่คือการขุดลายให้ลึกลงไป สำหรับการป้องกันการเคลื่อนตัวของแท่งศิลาทรายที่ก่อเป็นผนัง ประตู หน้าต่าง โดยทั่วไปมักเจาะแท่งศิลาทรายซึ่งก่อตามแนวนอนตามความยาวของกรอบประตูหรือหน้าต่างด้านบน แล้วใช้ไม้สอดเป็นแกนภายในโดยให้แกนไม้นี้ยาวเลยขอบประตูหน้าต่างทั้งสองข้างออกไป หากพบว่าผนังส่วนบนเหนือประตูหรือหน้าต่างมีน้ำหนักมาก จะใช้วิธีก่อศิลาจากขอบประตูให้เหลื่อมกันเข้ามาบรรจบกันในรูปสามเหลี่ยม บริเวณสามเหลี่ยมที่เป็นช่องว่างนี้ เจาะแท่งหินเข้ามาเป็นชั้นๆ เพื่อสอดคานไม้รับน้ำหนักผนังอาคารด้านบน การใช้ไม้สอดรองรับน้ำหนักของผนังอาคารนี้เป็นข้อผิดพลาดอย่างยิ่งในการก่อสร้างเพราะว่าเมื่อกาลเวลาผ่านไป ไม้ที่สอดนั้นชำรุดหักพังก็จะเป็นตัวเร่งให้เครื่องที่อยู่บนไม้ที่รองรับนั้นพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังปรากฎว่าสถาปัตยกรรมเขมรยังประกอบด้วยหน้าต่างจริงและหน้าต่างหลอก หน้าต่างจริงคือหน้าต่างที่เจาะโปร่งมักใช้กับส่วนของผนังอาคารที่ไม่ได้รับน้ำหนักของเครื่องบนมากนัก ส่วนหน้าต่างหลอกคือการเจาช่องให้เป็นรูปหน้าต่างหากมิได้เจาะให้ผนังโปร่งทะลุทั้งสองด้าน แต่กระนั้นหน้าต่างทั้งสองชนิดนี้มักจะติดตั้งลูกกรงมะหวด ที่ทำด้วยศิลาทรายกลึงเป็นข้อเลียนแบบข้อหรือปล้องไม้ไผ่เข้าไปตลอดความกว้างของหน้าต่าง เพื่อการประดับตกแต่งก่อให้เกิดความสวยงามและยังใช้รับน้ำหนักด้วยเช่นกัน ศาสนาฮินดู เป็นศาสนาที่ซับซ้อน มีกำเนิดจากลัทธิพระเวท ซึ่งพวกอารยันได้นำเข้ามาในประเทศอินเดียก่อนที่ชาวอารยันได้บุกรุกเข้ามา ศาสนาฮินดูนี้ได้มีวิวัฒนาการตลอดระยะเวลาของประวัติความเป็นมาโดยในระยะแรกเรียกว่าศาสนาพราหมณ์และต่อมาจึงกลายเป็นศาสนาฮินดู จะมีการเคารพบูชาเทพเจ้าหลายองค์ แต่ก็ได้ให้ความสำคัญแก่พระเป็นเจ้าสามองค์ได้แก่ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ซึ่งรวมกันเรียกว่า ตรีมูรติ พระพรหมทรงเป็นเพียงเทพเจ้าชั้นรอง หากแต่พระศิวะและพระวิษณุนั้นกลายเป็นเทพเจ้าผู้เป็นประมุขของนิกายใหญ่สองลัทธิที่แข่งขันกันอยู่ในประเทศอินเดีย ได้แก่ลัทธิไศวนิกายซึ่งถือว่าพระศิวะเป็นใหญ่และลัทธิไวษณพนิกายซึ่งถือว่าพระวิษณุเป็นใหญ่กว่าพระศิวะ แต่พระวิษณุคือพระหริ และพระศิวะเป็นพระหระ แล้วก็สามารถรวมกันเป็นเทพเจ้าองค์เดียวคือ พระหริหระ พระพรหมซึ่งตาทฤษฎีจัดว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุดนั้นมีสี่พักตร์ สี่กร ทรงหงส์เป็นพาหนะ พระวิษณุ ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ปกปักรักษาโลกโลกทรงมีเพียงเศียรเดียว สี่กร และมักทรงถือจักร สังข์ คฑา และดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ พระวิษณุทรงมีพระชายานามว่า ลักษมีเทพธิดาแห่งความงาม และทรงครุฑเป็นพาหนะ การบรรทมหลับของพระวิษณุเป็นการช่วยสร้างโลกไว้ภายหลังที่โลกถูกทำลาย กล่าวคือ เมื่อสิ้นกัลป์แล้ว พระวิษณุจะบรรทมเหนือพญาอนันตนาคราชหรือเศษนาคในเกษียรสมุทร ในขณะที่บรรทมหลับนั้นจะมีดอกบัวทองผุขึ้นมาจากพระนาภีของพระองค์ และมีพระพรหมประทับอยู่บนนั้นและพระพรหมก็จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่ ในระหว่างกัลป์เมื่อเกิดยุคเข็ญขึ้นในโลกพระวิษณุจะอวตารลงมาเพื่อรักษาโลก อวตารเหล่านี้บางครั้งก็เป็นเต่า หมู่ป่า ปลา หรือวีรบุรุษ กูรมาวตารหรือปางอวตารเป็นเต่าซึ่งเกี่ยวข้องกับการกวนเกษียรสมุทรนั้นเป็นที่นิยมมากในศิลปะเขมร การอวตารเป็นมนุษย์ของพระวิษณุคือเป็นพระรามและพระกฤษณะดังที่มีปรากฏอยู่ในเรื่องรามายณะ มหาภารตะ หริวงศ์ ภาควัตปรุณะ และวิษณุปราณะ ก็เป็นที่นิยมอย่างยิ่งในศิลปะเขมรเช่นเดียวกัน ดังเห็นได้จากภาพสลักอันงดงามเป็นจำนวนมาก พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกายนั้นถือกันว่าพระองค์เป็นผู้สร้างและผู้ล้างโลก เพราะเหตุว่าความตายนั้นก็ คือการให้ชีวิตมีขึ้น พระศิวะมักมีเศียรเดียว สี่กร มักทรงถือ ตรีศูลเป็นอาวุธ ทรงมีพระเนตรที่สามตั้งขวางพระนลาฏ พระเกศามักเป็นขมวดเกล้าเป็นชฏามุกุฏ และบางครั้งก็มีรูปพระจันทร์เสี้ยว ประดับบนมวยพระเกศา พระองค์ทรงนุ่งหนังกวางหรือหนังเสือทรงนาคเป็นสังวาลย์และทรงโคนนทิเป็นพาหะนะ บางครั้งพระศิวะก็ทรงฟ้อนรำเป็นนาฏราช ซึ่งเป็นรำของพระองค์เป็นการกำหนดระยะโชคชะตาของมนุษย์โลก ชายาของพระศิวะทรงพระนามว่าพระอุมาเป็นผู้ที่แสดงความเมตตากรุณาและผู้ที่สพรึงกลัว เช่นเดียวกับพระศิวะซึ่งทรงเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลายล้าง พระนางเป็นสัญลักษณ์แห่งกำลังของโลก ภายใต้ลักษณ์ความอ่อนหวานมีนามว่าอุมาหรือปรรพตีและภายใต้ลักษณะโหดร้ายมีนามว่าทุรคา หรือกาลี ในศิลปะเขมรมักนิยมสร้างรูปพระศิวะกำลังกอดพระชายาของพระองค์เหนือพระเพลา พระศิวะและนางปรรพตีทรงมีโอรสสององค์คือ พระขันธกุมาร ซึ่งเป็นเทพเจ้า แห่งการสงคราม ทรงนกยูงเป็นพาหนะ และพระคเณศซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้มีเศียรเป็นช้างผู้อุปถัมภ์ศิลปะวิทยาการ ศิลปะเขมรมักนิยมทำรูปพระศิวะในปางแสดงความเมตตากรุณายิ่งกว่าปางเสวยกาม เศร้าหมองหรือน่าสะพรึงกลัว แต่แทนที่จะทำรูปพระองค์ในรูปของมนุษย์กลับปรากฏว่าในรูปลอยตัวมักแสดงในรูปของศิวะลึงค์ ศิวะลึงค์นี้คือเครื่องหมายขององค์กำเนิดของเพศชาย อันแสดงถึงอำนาจในการสร้างสรรค์ของพระผู้เป็นเจ้าและต่อมาก็ได้กลายเป็นเครื่องหมายของพระราชาแห่งกัมพูชาด้วย ในบรรดาเทพเจ้าในศาสนาฮินดูนอกเหนือจากตรีมูรติที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีเทพเจ้าอีกองค์หนึ่งซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในศิลปะเขมร เทพเจ้าองค์นี้ได้แก่พระอินทร์ ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้า ฝน เทพเจ้าผู้รักษาทิศตะวันออก ทรงช้างเอราวัณสามเศียรเป็นพาหนะ มักได้รับการแสดงภาพให้ปรากฏอยู่เสมอ